มีผู้ออกแบบไหม?
ผิวของวาฬนำร่องที่ทำความสะอาดตัวเองได้
เพรียงและสัตว์ทะเลตัวจิ๋วที่เกาะอยู่ใต้ท้องเรือมักจะสร้างปัญหาให้กับบริษัทเดินเรือ เพราะสิ่งมีชีวิตพวกนี้ทำให้เรือแล่นช้าลง ทำให้เปลืองน้ำมัน และต้องมีการทำความสะอาดกันทุก 2-3 ปี นักวิทยาศาสตร์กำลังหาวิธีแก้ปัญหาโดยเลียนแบบสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติ
ลองคิดดู: นักวิจัยค้นพบว่าผิวของวาฬนำร่องครีบยาว (Globicephala melas) สามารถทำความสะอาดตัวเองได้ ผิวของวาฬชนิดนี้เต็มไปด้วยร่องที่เล็กมากระดับนาโนทำให้ตัวอ่อนของเพรียงเกาะไม่ติด และมีเจลออกมาจากรูที่อยู่ตามร่องเพื่อกำจัดตะไคร่น้ำกับแบคทีเรีย ทุกครั้งที่วาฬผลัดผิว มันจะปล่อยเจลชุดใหม่ออกมาเคลือบผิวอีกครั้ง
นักวิทยาศาสตร์กำลังคิดค้นระบบทำความสะอาดท้องเรือโดยเลียนแบบผิวของวาฬ ที่ผ่านมาบริษัทเดินเรือมักใช้วิธีทาสีกันเพรียงเพื่อปกป้องเรือ แต่ไม่นานมานี้สีส่วนใหญ่ที่ใช้กันถูกสั่งห้ามเพราะเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล นักวิจัยจึงคิดแก้ปัญหานี้โดยทำรูเล็ก ๆ ซึ่งปล่อยสารเคมีที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมไว้ที่ท้องเรือแล้วคลุมด้วยตาข่ายโลหะ เมื่อสารนี้สัมผัสกับน้ำทะเล มันจะเกาะกันเป็นเจลเหนียวที่หนาประมาณ 0.7 มิลลิเมตรเคลือบท้องเรือไว้ เมื่อใช้งานไประยะหนึ่งเจลนี้จะหลุดลอกไปเอง และสิ่งมีชีวิตที่เกาะอยู่กับมันก็จะหลุดออกไปด้วย แล้วระบบก็จะผลิตเจลชุดใหม่ออกมาเคลือบผิวท้องเรืออีก
ผลการทดลองแสดงว่าระบบนี้สามารถป้องกันเพรียงติดท้องเรือได้ดีกว่าวิธีเดิมถึง 100 เท่า และจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับบริษัทเดินเรือ เพราะการยกเรือเดินสมุทรขึ้นจากน้ำมาไว้บนอู่จอดเรือเพื่อทำความสะอาดต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก
คุณคิดอย่างไร? ผิวของวาฬนำร่องครีบยาวที่ทำความสะอาดตัวเองได้เกิดจากวิวัฒนาการหรือมีผู้ออกแบบ?