มีผู้ออกแบบไหม?
ระบบโซนาร์ของโลมา
โลมาทำเสียงคลิกและเสียงผิวปากหลายแบบ แล้วฟังเสียงสะท้อนเพื่อนำทางและสำรวจสภาพแวดล้อมรอบตัวมัน นักวิทยาศาสตร์ได้รับแรงบันดาลใจจากระบบโซนาร์ตามธรรมชาติของโลมาปากขวด (Tursiops truncatus) ในการพัฒนาระบบเสียงใต้น้ำเพื่อแก้ปัญหาที่เทคโนโลยีที่มีอยู่ตอนนี้ยังไม่สามารถแก้ได้
ลองคิดดู: ระบบโซนาร์ของโลมาทำให้มันหาปลาที่ซ่อนอยู่ในทรายก้นมหาสมุทรและแยกปลากับก้อนหินได้ ตามที่คีท บราวน์ รองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแฮเรียต-วัตต์ เมืองเอดินบะระ สกอตแลนด์ บอกไว้ว่า โลมายังสามารถ “บอกได้ว่าภาชนะไหนใส่น้ำจืด น้ำเค็ม น้ำเชื่อม หรือน้ำมัน มันบอกได้ทั้ง ๆ ที่อยู่ห่างออกไป [ในระยะทาง] 10 เมตร” นักวิทยาศาสตร์อยากจะพัฒนาอุปกรณ์ที่มีความสามารถเดียวกันนี้บ้าง
นักวิจัยวิเคราะห์เสียงและการได้ยินของโลมาแล้วพยายามเอามาเลียนแบบ ผลที่ได้คืออุปกรณ์ระบบโซนาร์ซึ่งมีระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ซับซ้อนใส่ไว้ในกระบอกยาวไม่ถึงหนึ่งเมตร (3.3 ฟุต) อุปกรณ์นี้ซึ่งติดอยู่กับยานยนต์ใต้น้ำที่ดูคล้ายตอร์ปิโดถูกออกแบบไว้ใช้สำรวจก้นมหาสมุทร หรือหาวัตถุที่ฝังไว้ เช่น สายเคเบิลหรือท่อส่งน้ำมัน และวิเคราะห์โดยไม่ต้องไปดูโดยตรง ผู้คิดค้นอุปกรณ์นี้คาดว่าจะใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ ระบบโซนาร์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากโลมาควรเก็บข้อมูลได้มากกว่าอุปกรณ์ระบบโซนาร์ในปัจจุบัน ช่วยผู้เชี่ยวชาญให้ติดตั้งเครื่องมือใต้น้ำในตำแหน่งที่ดีที่สุด ตรวจสอบความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น รอยแตกร้าวที่แท่นขุดเจาะน้ำมัน และแม้แต่หาสิ่งอุดตันในท่อส่งน้ำมัน
คุณคิดอย่างไร? ระบบโซนาร์ของโลมาปากขวดเกิดจากวิวัฒนาการไหม? หรือมีผู้ออกแบบ?