ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จาก​อดีต

โจเซฟ พริสต์ลีย์

โจเซฟ พริสต์ลีย์

“เขา​มาก​ด้วย​ความ​สามารถ กระตือรือร้น และ​มี​มนุษยธรรม เขา​สนใจ​สิ่ง​ต่าง ๆ ใน​โลก​รอบ​ตัว ใฝ่​รู้​รอบ​ด้าน​ทั้ง​ทาง​ศีลธรรม​และ​สังคม เขา​อยู่​ใน​ทุก​วงการ​สำคัญ​ไม่​ว่า​จะ​เป็น​วิทยาศาสตร์ เทววิทยา ปรัชญา หรือ​การ​เมือง เขา​สนับสนุน​การ​ปฏิวัติ [ฝรั่งเศส] อย่าง​ออก​นอก​หน้า และ​บาง​ครั้ง​เขา​ทำ​ให้​ตัว​เอง​เดือดร้อน​โดย​ไม่​จำเป็น แต่​ทั้ง​หมด​นี้​ทำ​ให้​เขา​กลาย​เป็น​บุคคล​สำคัญ​ใน​ศตวรรษ​ที่ 18”—เฟรดริก แฮร์ริสัน นัก​ปรัชญา

โจเซฟ พริสต์ลีย์​ค้น​พบ​อะไร​ที่​น่า​สนใจ​เป็น​พิเศษ? สิ่ง​ที่​เขา​ค้น​พบ​และ​งาน​เขียน​ของ​เขา​ส่ง​ผล​ต่อ​ความ​คิด​ของ​ผู้​คน​ทั้ง​เรื่อง​บทบาท​ของ​รัฐบาล สภาพ​ของ​พระเจ้า และ​แม้​กระทั่ง​อากาศ​ที่​เรา​หายใจ

ไม่​ว่า​จะ​เขียน​เรื่อง​ทาง​วิทยาศาสตร์​หรือ​ศาสนา พริสต์ลีย์​ปฏิเสธ​ทฤษฎี​และ​ความ​คิด​ดั้งเดิม​แต่​ยึด​มั่น​กับ​ข้อ​เท็จ​จริง​และ​ความ​จริง​เท่า​นั้น ให้​เรา​มา​ดู​ว่า​เขา​ทำ​อะไร?

ตาม​หา​ความ​จริง​ทาง​วิทยาศาสตร์

โจเซฟ พริสต์ลีย์​ชอบ​อ่าน​และ​ค้นคว้า​เกี่ยว​กับ​วิทยาศาสตร์​เป็น​งาน​อดิเรก ใน​ปี ค.ศ. 1765 หลัง​จาก​ได้​พบ​กับ​เบนจามิน แฟรงคลิน นัก​วิทยาศาสตร์​ชาว​อเมริกัน พริสต์ลีย์​ก็​เริ่ม​ทำ​การ​ทดลอง​เกี่ยว​กับ​ไฟฟ้า ปี​ต่อ​มา นัก​วิทยาศาสตร์​คน​อื่น ๆ ชื่น​ชอบ​ผล​งาน​การ​ค้น​พบ​ของ​เขา​มาก​ถึง​ขนาด​เลือก​เขา​ให้​เป็น​สมาชิก​ของ​ราช​สมาคม​แห่ง​ลอนดอน​ที่​มี​ชื่อเสียง

ต่อ​มา พริสต์ลีย์​หัน​ไป​สนใจ​ด้าน​เคมี ไม่​นาน เขา​ค้น​พบ​ก๊าซ​ใหม่ ๆ หลาย​ชนิด รวม​ทั้ง​แอมโมเนีย​และ​ไนตรัสออกไซด์ (ก๊าซ​หัวเราะ) เขา​ยัง​ได้​ทดลอง​เอา​ก๊าซ​คาร์บอนไดออกไซด์​มา​เติม​ลง​ไป​ใน​น้ำ​ด้วย ซึ่ง​ทำ​ให้​น้ำ​กลาย​เป็น​น้ำ​โซดา

ใน​ปี ค.ศ. 1774 ระหว่าง​ที่​ทำ​การ​ทดลอง​อยู่​ทาง​ใต้​ของ​อังกฤษ เขา​แยก​ก๊าซ​ที่​ไม่​ธรรมดา​ชนิด​หนึ่ง​ออก​มา​ได้ ก๊าซ​นี้​ทำ​ให้​เปลว​เทียน​ลุก​โชน​มาก​ขึ้น ต่อ​มา เขา​ทำ​การ​ทดลอง​โดย​ใช้​ครอบ​แก้ว 2 อัน เขา​ใส่​หนู​ตัว​หนึ่ง​เข้า​ไป​ใน​ครอบ​แก้ว​อัน​แรก​ที่​มี​แต่​อากาศ​ธรรมดา ส่วน​ครอบ​แก้ว​อัน​ที่​สอง เขา​ใส่​หนู​และ​ก๊าซ​ที่​เขา​ค้น​พบ​เข้า​ไป 60 มิลลิ​ลิตร ปรากฏ​ว่า​หนู​ใน​ครอบ​แก้ว​อัน​ที่​สอง​มี​ชีวิต​อยู่​ได้​นาน​กว่า​หนู​ใน​ครอบ​แก้ว​อัน​แรก​ถึง​สอง​เท่า! พริสต์ลีย์​เอง​ก็​สูด​ดม​ก๊าซ​ชนิด​นั้น​เข้า​ไป​ด้วย เขา​บอก​ว่า “รู้สึก​ตัว​เบา​ขึ้น​และ​รู้สึก​สบาย​ไป​พัก​หนึ่ง​หลัง​จาก​นั้น”

โจเซฟ พริสต์ลีย์​ค้น​พบ​ก๊าซ​ออกซิเจน * แต่​เขา​ไม่​ได้​เรียก​มัน​ว่า​ออกซิเจน เพราะ​คิด​ว่า​มัน​เป็น​ก๊าซ​ธรรมดา​ชนิด​หนึ่ง​ซึ่ง​ไม่​มี​สาร​ขัด​ขวาง​การ​เผา​ไหม้ ถึง​แม้​ข้อ​สรุป​ของ​พริสต์ลีย์​จะ​ไม่​ถูก​ต้อง แต่​หลาย​คน​ก็​ยัง​ถือ​ว่า​การ​ค้น​พบ​นี้ “เป็น​ผล​งาน​ชิ้น​โบว์​แดง​ใน​ประวัติการ​ทำ​งาน​ของ​เขา”

ตาม​หา​ความ​จริง​ทาง​ศาสนา

เนื่อง​จาก​พริสต์ลีย์​เชื่อ​ว่า​คน​ที่​มี​ความ​คิด​แบบ​อคติ​จะ​หา​ความ​จริง​ทาง​วิทยาศาสตร์​ไม่​พบ เขา​จึง​คิด​ว่า​ธรรมเนียม​ที่​สืบ​ทอด​กัน​มา​และ​หลัก​คำ​สอน​ดั้งเดิม​จะ​ปิด​กั้น​ความ​จริง​ทาง​ศาสนา​ด้วย ที่​น่า​แปลก​ก็​คือ ตลอด​หลาย​ปี​ที่​เขา​ค้น​หา​ความ​รู้​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล พริสต์ลีย์​ไม่​ยอม​รับ​ความ​เชื่อ​บาง​อย่าง เช่น เขา​ไม่​เชื่อ​ว่า​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​หนังสือ​ที่​มา​จาก​พระเจ้า และ​ไม่​เชื่อ​คำ​สอน​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​บอก​ว่า​พระ​เยซู​มี​ชีวิต​ใน​สวรรค์​ก่อน​มา​เกิด​เป็น​มนุษย์

“ถ้า​วิทยาศาสตร์​คือ​การ​ตาม​หา​ความ​จริง พริสต์ลีย์​ก็​เป็น​นัก​วิทยาศาสตร์​ตัว​จริง”—แคธลีน เคอเลน นัก​ชีววิทยา

แต่​พริสต์ลีย์​เอง​กลับ​เป็น​คน​ที่​เปิดโปง​หลัก​คำ​สอน​ของ​ศาสนา​เท็จ​ที่​คน​ส่วน​ใหญ่​เชื่อ​กัน​ตั้ง​แต่​สมัย​นั้น​จน​ถึง​สมัย​นี้ เขา​เขียน​ว่า​ความ​จริง​ที่​พระ​เยซู​และ​สาวก​สอน​ไว้​ถูก​บิดเบือน​เพราะ​คำ​โกหก​มาก​มาย เช่น คำ​สอน​เท็จ​เรื่อง​ตรีเอกานุภาพ คำ​สอน​ผิด ๆ ที่​บอก​ว่า​มนุษย์​มี​บาง​ส่วน​ที่​คง​อยู่​ต่อ​ไป​หลัง​จาก​ตาย และ​การ​ไหว้​รูป​เคารพ ซึ่ง​จริง ๆ แล้ว​เป็น​สิ่ง​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​ตำหนิ​อย่าง​แรง

แนว​คิด​เรื่อง​ศาสนา​ของ​พริสต์ลีย์​และ​การ​สนับสนุน​การ​ปฏิวัติ​ของ​อเมริกา​และ​ฝรั่งเศส​ทำ​ให้​คน​อังกฤษ​พา​กัน​โกรธ​แค้น ใน​ปี ค.ศ. 1791 ม็อบ​กลุ่ม​หนึ่ง​บุก​เข้า​ไป​ทำลาย​บ้าน​และ​ห้อง​ทดลอง​ของ​เขา ใน​ที่​สุด พริสต์ลีย์​ก็​หนี​ไป​อยู่​อเมริกา แม้​เขา​จะ​เป็น​ที่​จด​จำ​เพราะ​การ​ค้น​พบ​ทาง​วิทยาศาสตร์ แต่​โจเซฟ พริสต์ลีย์​เชื่อ​ว่า​การ​เรียน​รู้​เรื่อง​พระเจ้า​และ​สิ่ง​ที่​พระองค์​ต้องการ​ให้​มนุษย์​ทำ​เป็น​เรื่อง “สำคัญ​มาก​และ​เป็น​เกียรติ​สูง​สุด”

^ วรรค 10 ก่อน​หน้า​นี้ นัก​เคมี​ชาว​สวีเดน​ชื่อ​คาร์ล เชเลอ​แยก​ก๊าซ​นี้​ออก​มา​ได้​สำเร็จ​แต่​เขา​ไม่​ได้​ตี​พิมพ์​การ​ค้น​พบ​ของ​เขา ต่อ​มา นัก​เคมี​ชาว​ฝรั่งเศส​ชื่อ​อองตวน-โลร็อง ลาวัวซิเยร์ ได้​เรียก​ก๊าซ​นี้​ว่า​ออกซิเจน