ก1
หลักในการแปลคัมภีร์ไบเบิล
คัมภีร์ไบเบิลเขียนขึ้นด้วยภาษาฮีบรู ภาษาอาราเมอิก และภาษากรีกโบราณ ทุกวันนี้ มีคัมภีร์ไบเบิลทั้งแบบครบชุดและบางส่วนมากกว่า 3,000 ภาษา เนื่องจากคนส่วนใหญ่ที่อ่านคัมภีร์ไบเบิลไม่เข้าใจภาษาต้นฉบับ พวกเขาจึงต้องอ่านจากฉบับที่แปลแล้ว ผู้แปลควรใช้หลักอะไรในการแปลคัมภีร์ไบเบิล? และมีการใช้หลักเหล่านี้อย่างไรเมื่อแปลคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่?
บางคนคิดว่าการแปลแบบตรงตัวหรือแปลแบบคำต่อคำน่าจะถ่ายทอดความหมายได้ใกล้เคียงกับภาษาต้นฉบับมากที่สุด แต่ก็ไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไป ขอให้ดูเหตุผลบางอย่างต่อไปนี้
ไม่มีภาษาไหนที่มีไวยากรณ์ คำศัพท์ และโครงสร้างประโยคเหมือนกันทุกอย่าง ศาสตราจารย์ด้านภาษาฮีบรูชื่อเอส. อาร์. ไดรเวอร์ เขียนไว้ว่า แต่ละภาษา “ไม่ได้ต่างกันที่ไวยากรณ์และรากศัพท์เท่านั้น แต่ยังต่างกัน . . . ที่การเรียบเรียงความคิดออกมาเป็นประโยคด้วย” คนที่พูดภาษาต่างกันมีวิธีคิดแตกต่างกัน ศาสตราจารย์ไดรเวอร์อธิบายต่อว่า “เพราะอย่างนี้ โครงสร้างประโยคของแต่ละภาษาจึงไม่เหมือนกัน”
เนื่องจากในทุกวันนี้ไม่มีภาษาไหนที่มีคำศัพท์และลักษณะไวยากรณ์เหมือนกันทุกอย่างกับภาษาฮีบรู ภาษาอาราเมอิก และภาษากรีกที่ใช้เขียนคัมภีร์ไบเบิล การแปลคัมภีร์ไบเบิลแบบคำต่อคำจึงไม่สามารถถ่ายทอดความหมายได้ชัดเจนและอาจถึงกับทำให้เข้าใจผิด
ความหมายของคำหรือสำนวนอาจเปลี่ยนไปได้ตามท้องเรื่อง
ในบางท้องเรื่อง ผู้แปลอาจแปลตรงตัวตามต้นฉบับได้ แต่ก็ต้องทำอย่างระมัดระวัง
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงว่าการแปลแบบคำต่อคำอาจทำให้เข้าใจผิดได้
ในพระคัมภีร์ คำที่แปลตรงตัวว่า “หลับ” อาจหมายถึงการนอนหลับจริง ๆ หรือหมายถึงการตายก็ได้ (มัทธิว 28:13; กิจการ 7:60, เชิงอรรถ) ถ้าท้องเรื่องไหนหมายถึงการตาย ผู้แปลพระคัมภีร์อาจแปลว่า “ตาย” เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจชัดเจน—1 โครินธ์ 7:39; 1 เธสะโลนิกา 4:13; 2 เปโตร 3:4
ที่เอเฟซัส 4:14 อัครสาวกเปาโลใช้สำนวนหนึ่งซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า “ในการเล่นลูกเต๋าของมนุษย์” สำนวนโบราณนี้ทำให้คิดถึงการโกงคนอื่นโดยใช้ลูกเต๋า แต่ในภาษาส่วนใหญ่การแปลตรงตัวแบบนี้ไม่สื่อความหมายอะไร คัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้จึงแปลสำนวนนี้ว่า “อุบายล่อลวงของมนุษย์” ซึ่งถ่ายทอดความหมายได้ชัดเจนกว่า
ที่โรม 12:11 มีการใช้สำนวนภาษากรีกที่มีความหมายตรงตัวว่า “ใจที่เดือดพล่าน” แต่ในภาษาไทยการแปลแบบนี้ไม่ได้สื่อความหมายตรงตามต้นฉบับ คัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้จึงแปลสำนวนนี้ว่า “ใจกระตือรือร้น”
ในคำบรรยายบนภูเขาที่มีชื่อเสียงของพระเยซู มีสำนวนหนึ่งที่คัมภีร์ไบเบิลบางฉบับแปลว่า “คนที่ยากจนด้านจิตวิญญาณก็เป็นสุข” (มัทธิว 5:3, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน) แต่ในหลายภาษา การแปลสำนวนนี้แบบตรงตัวสื่อความหมายไม่ชัดเจน ในข้อนี้พระเยซูกำลังสอนประชาชนว่าความสุขไม่ได้เกิดจากการมีทรัพย์สมบัติเงินทอง แต่เกิดจากการยอมรับว่าคนเราจำเป็นต้องได้รับการชี้นำจากพระเจ้า (ลูกา 6:20) ดังนั้น การแปลว่า “คนที่รู้ตัวว่าจำเป็นต้องพึ่งพระเจ้า” หรือ “คนที่รู้ตัวว่าต้องการพระเจ้า” จึงถ่ายทอดความหมายได้ตรงกับต้นฉบับมากกว่า—มัทธิว 5:3, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับอ่านเข้าใจง่าย
ในหลายท้องเรื่อง คำภาษาฮีบรูที่แปลว่า “หึงหวง” หรือ “อิจฉา” มีความหมายตรงกับคำในภาษาไทยที่หมายถึง การโกรธคนใกล้ชิดที่ไม่ซื่อสัตย์หรือการไม่พอใจที่คนอื่นมีทรัพย์สมบัติ (สุภาษิต 6:34; อิสยาห์ 11:13) แต่คำภาษาฮีบรูเดียวกันนี้ก็มีความหมายในแง่ดีด้วย เช่น หมายถึงความรู้สึกแรงกล้าของพระยะโฮวาที่ “ตั้งใจ” จะปกป้องผู้รับใช้ของพระองค์ และต้องการให้พวกเขา “นมัสการพระองค์เพียงผู้เดียว” (อพยพ 34:14; 2 พงศ์กษัตริย์ 19:31; เอเสเคียล 5:13; เศคาริยาห์ 8:2) และยังอาจหมายถึง “ความรักแรงกล้า” ซึ่งผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์มีต่อพระเจ้าและต่อการนมัสการพระองค์ หรือหมายถึงการ ‘ไม่ยอมให้ใครทำตัวไม่ซื่อสัตย์’ ต่อพระองค์—สดุดี 69:9; 119:139; กันดารวิถี 25:11
คำฮีบรูที่มักจะแปลว่า “มือ” อาจมีความหมายหลายอย่างขึ้นอยู่กับท้องเรื่อง เช่น “อำนาจ” หรือ ‘การให้อย่างมากมาย’ (2 ซามูเอล 8:3; 1 พงศ์กษัตริย์ 10:13; สุภาษิต 18:21) ดังนั้น คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่ ภาษาไทยจึงแปลคำนี้ไว้หลายอย่าง
เนื่องจากเหตุผลเหล่านี้ ผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลจึงไม่สามารถแปลคำหนึ่งแบบเดิมทุกครั้งได้ แต่ต้องคิดให้ดีเพื่อจะเลือกคำแปลที่ถ่ายทอดความหมายได้ตรงกับต้นฉบับมากที่สุด นอกจากนี้ ผู้แปลยังต้องเรียบเรียงประโยคให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์เพื่อให้อ่านเข้าใจง่ายด้วย
ในอีกด้านหนึ่ง ผู้แปลไม่ควรปรับข้อความจนเกินพอดี ถ้าเขาแปลแบบอิสระมากเกินไปหรือตีความตามความเข้าใจของตัวเอง ก็จะทำให้ความหมายของข้อความผิดเพี้ยนไปได้ เพราะเขาอาจใส่ความคิดที่ผิด ๆ ของตัวเองลงไปหรือตัดรายละเอียดสำคัญบางอย่างที่มีในต้นฉบับออกไป การแปลแบบอิสระนี้อาจช่วยให้อ่านเข้าใจง่าย แต่ทำให้ผู้อ่านไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของพระคัมภีร์
ความเชื่อส่วนตัวของผู้แปลในหลักคำสอนบางอย่างอาจทำให้การแปลผิดเพี้ยนไปได้ ตัวอย่างเช่น มัทธิว 7:13 บอกว่า “ทางที่กว้างใหญ่นั้นนำไปถึงความพินาศ” แต่เนื่องจากผู้แปลบางคนมีความเชื่อส่วนตัวบางอย่าง พระคัมภีร์บางฉบับจึงใช้คำว่า “นรก” แทนที่จะใช้คำว่า “ความพินาศ” ซึ่งเป็นความหมายจริง ๆ ของคำภาษากรีกคำนี้
ผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลต้องจำไว้ด้วยว่า แต่เดิมคัมภีร์ไบเบิลเขียนขึ้นด้วยภาษาที่คนธรรมดา เช่น ชาวไร่ ชาวนา คนเลี้ยงแกะ และชาวประมงใช้กันในชีวิตประจำวัน (เนหะมีย์ 8:8, 12; กิจการ 4:13) ฉบับแปลคัมภีร์ไบเบิลที่ดีจึงต้องช่วยให้คนที่อยากรู้ความจริงสามารถเข้าใจข่าวสารของพระคัมภีร์ได้ ไม่ว่าพวกเขาจะมีภูมิหลังอย่างไร ดังนั้น ผู้แปลควรใช้คำธรรมดาที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย ไม่ใช่คำที่คนทั่วไปไม่ค่อยใช้กัน
มีผู้แปลหลายคนตัดชื่อ ยะโฮวา ซึ่งเป็นชื่อของพระเจ้าออกจากฉบับแปลสมัยใหม่อย่างไม่สมควร ทั้ง ๆ ที่ชื่อนี้มีอยู่ในสำเนาคัมภีร์ไบเบิลสมัยโบราณ (ดูภาคผนวก ก4) คัมภีร์ไบเบิลหลายฉบับใช้ตำแหน่ง “องค์พระผู้เป็นเจ้า” แทนชื่อพระเจ้า และบางฉบับถึงกับทำให้คนอ่านไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพระเจ้ามีชื่อ ตัวอย่างเช่น ฉบับแปลบางฉบับได้แปลคำอธิษฐานของพระเยซูที่ยอห์น 17:26 ว่า “ข้าพระองค์ได้ทำให้พวกเขารู้จักพระองค์” และแปลยอห์น 17:6 ว่า “ข้าพระองค์ได้สำแดงพระองค์แก่บรรดาคนที่พระองค์ประทานแก่ข้าพระองค์จากโลกนี้” แต่คำแปลที่ถูกต้องตามต้นฉบับคือ “ผมทำให้พวกเขารู้จักชื่อของพระองค์ แล้ว” และ “คนที่พระองค์แยกออกจากโลกนี้และยกให้ผม ผมช่วยพวกเขาให้รู้จักชื่อของพระองค์ แล้ว”
ในคำนำของคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่ภาษาอังกฤษฉบับแรกเขียนว่า “เราไม่ได้แปลพระคัมภีร์แบบตีความ ถ้ามีสำนวนภาษาอังกฤษสมัยใหม่ที่ใช้ได้และไม่ทำให้ความหมายกำกวมหรือฟังแปลก เราก็พยายามแปลตรงตัวเท่าที่จะทำได้” ดังนั้น คณะกรรมการการแปลคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่พยายามแปลพระคัมภีร์ให้ตรงกับภาษาต้นฉบับ แต่ก็หลีกเลี่ยงการใช้คำและสำนวนที่ฟังแปลกหรือมีความหมายกำกวม ทำให้คัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้อ่านง่ายและผู้อ่านสามารถมั่นใจได้ว่ามีการถ่ายทอดข้อความที่ได้รับการดลใจอย่างซื่อสัตย์—1 เธสะโลนิกา 2:13